วันเสาร์ที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีภาวะผ้นำ

1.แนวคิด ทฤษฏีเกี่ยวกับภาวะผู้นำ
1.1 ความหมายของ ภาวะผู้นำ
Webster’s Encyclopedic Uunabridged Dictionary ได้บัญญัติว่า “Leadership” เป็นคำนามเกิดจากการผสมระหว่าง “Leader + Ship” มีความหมาย 4 ประการ ดังนี้ 1) ตำแหน่ง หรือหน้าที่ของผู้นำ 2) ความสามารถในการนำ 3) การนำ และ 4) ผู้นำกลุ่ม
Yuk (1998) ให้คำนิยาม ว่า ภาวะผู้นำ เป็นพฤติกรรมส่วนตัวของบุคคลหนึ่งที่จะชักนำกิจกรรมกลุ่มให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน (Shared goal)
DuBrin (1998) ให้ทัศนะว่า ภาวะผู้นำ เป็นความสามารถที่จะสร้างความเชื่อมั่นและให้การสนับสนุนบุคคลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ
Daft (1999) ให้ความหมายว่า ภาวะผู้นำ เป็นความสัมพันธ์ที่มีอิทธิพลระหว่างผู้นำ (Leader) และผู้ตาม (Followers) ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายร่วมกัน (Shared purposed)
Greebberg และ Baron (2003) ได้ให้ความหมายว่า ภาวะผู้นำ เป็นกระบวนการที่บุคคลที่มีอิทธิพลต่อกลุ่มสมาชิก สามารถโน้มน้าวให้ทุกคนในกลุ่มทำงานเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ ตามเป้าหมายที่กลุ่มหรือองค์การกำหนดไว้
McShane และ Von Glinow (2005) ได้ให้นิยามไว้ว่า ภาวะผู้นำ หมายถึงความสามารถที่มีอิทธิพลที่จะกระตุ้นจูงใจ และทำให้กลุ่มคนทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประสิทธิผล และความสำเร็จขององค์การที่ตนเป็นสมาชิกอยู่
สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์ (2547) ให้ความหมายของภาวะผู้นำไว้ว่า คือ ผู้นำที่สามารถในการควบคุมและกำกับพลังอำนาจทางอารมณ์ของตนไปเพื่อเสริมสร้างความพึงพอใจรวมทั้งขวัญและกำลังใจและแรงจูงใจของพนักงานตลอดจนส่งเสริมความมีประสิทธิผลให้แก่องค์การ
นิตย์ สัมมาพันธ์ (2549) ให้คำจำกัดความว่า ภาวะผู้นำ คือ พลังชนิดหนึ่งที่สามารถส่งแรงกระทำอันก่อนให้เกดการขับเคลื่อนกลุ่มคน และระบบองค์กร ไปสู่การบรรลุเป้าประสงค์
สุพานี สฤษฏ์วานิช (2549) ให้ทัศนะว่า ความเป็นผู้นำ หมายถึง ความสามารถที่จะมีอิทธิพลต่อผู้ตามหรือนำผู้ตามได้อย่างสัมฤทธิ์ผล หรือเป็นความสามารถในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่นทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของงานอย่างเหมาะสม
พิบูล ทีปะปาล (2550) ให้ความหมายของภาวะผู้นำว่า หมายถึง ความสามารถที่จะใช้ศิลปะความเป็นผู้นำโน้มน้าวบุคคลซึ่งเป็นผู้ตาม ให้เกิดการคล้อยตามยอมรับที่จะทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่ให้การปฏิบัติงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้
เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2550) ให้ทัศนะว่า ภาวะผู้นำเป็นการใช้อิทธิพลของบุคคลหรือของตำแหน่งให้ผู้อื่นยินดีปฏิบัติตามเพื่อที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายของกลุ่มตามที่กำหนดไว้
ภารดี อนันต์นาวี (2551) กล่าวว่า ภาวะผู้นำ หมายถึง กระบวนการ และสถานการณ์ที่บุคคลหนึ่งได้เป็นที่ยอมรับให้เป็นผู้นำในกลุ่มและมีอิทธิพลเหนือพฤติกรรมของสมาชิกในกลุ่มบุคคลนั้น สมาชิกในกลุ่มเชื่อว่ามีความสามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ ที่กลุ่มเผชิญอยู่ได้ โดยอาศัยอำนาจหน้าที่หรือการกระทำของผู้นำในการชักจูง หรือชี้นำบุคคลอื่นให้ปฏิบัติงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้
จากความหมายของภาวะผู้นำ ดังกล่าว สรุปได้ว่ามีลักษณะดังนี้ (1) เป็นความสามารถที่จะมีอิทธิพลเหนือผู้ใดผู้หนึ่งในด้านการกระทำตามที่ผู้นำต้องการ และสามารถจูงใจบุคคลอื่นให้กระทำกิจกรรมที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายขององค์การได้ (2) เป็นกระบวนการของผู้นำที่ใช้อิทธิพลควบคุม ประสานงานกิจกรรมของสมาชิกในกลุ่มทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ (3) เป็นพลังอำนาจอย่างหนึ่งของผู้นำที่ได้รับการยอมรับนับถือจากสมาชิกของกลุ่มจนเกิดวามพึงพอใจรวมทั้งมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน

1.2 ทฤษฏีภาวะผู้นำ
จากการศึกษา แนวคิด ทฤษฏี และการวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำหรือความเป็นผู้นำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งทฤษฏีภาวะผู้นำได้ 4 กลุ่ม ได้แก่
1.2.1 ทฤษฏีเชิงคุณลักษณะของผู้นำ (Trait Theory)
1.2.2 ทฤษฏีเชิงพฤติกรรมของผู้นำ (Behavioral Theory)
1.2.3 ทฤษฏีเชิงสถานการณ์ ( Contingency Theory)
1.2.4 ทฤษฏีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership Theory)
แนวคิดเหล่านี้มีความผิดแผกแตกต่างกันออกไป และได้รับการพัฒนาเรื่อยมา จนเป็นที่ยอมรับกันในปัจจุบัน
1.2.1ทฤษฏีเชิงคุณลักษณะของผู้นำ (Trait Theory)
ทฤษฏีนี้เป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีในช่วง ปี ค.ศ. 1920 – 1940 โดยทฤษฏีนี้ได้อธิบายคุณลักษณะ
ที่แตกต่างกันระหว่างผู้นำและไม่ใช่ผู้นำ ในอดีตที่ผ่านมาผู้นำแบบเก่าจะใช้วิธีสืบทอดต่อๆ กันมาตามประเพณีดั้งเดิม (traditional) แล้วเปลี่ยนมาเป็นการค้นหาคุณลักษณะของภาวะผู้นำ และได้พยายามแยกแยะถึงคุณลักษณะต่างๆ ของผู้นำออกมา แล้วพบว่า คนเป็นผู้นำจะมีลักษณะเฉพาะด้านบุคลิกภาพ ภาวะอารมณ์และจิตใจ ความต้องการ แรงขับ และค่านิยมที่แตกต่างกับคนไม่เป็นผู้นำ โดยคุณลักษณะด้านบุคลิกภาพของผู้นำที่มีประสิทธิผลที่มักพบที่แตกต่างกันระหว่างผู้นำและไม่ใช่ผู้นำ ได้แก่
(1) คุณลักษณะด้านบุคลิกทั่วไป เป็นคุณลักษณะที่สามารถสังเกตได้ทั้งภายในและภายนอก ประกอบด้วย ความเชื่อมั่นในตนเอง การสร้างความเชื่อถือและไว้วางใจได้ เป็นคนกล้าแสดงออก มีการแสดงออกที่เหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีความกระตือรือร้น มีอารมณ์ขัน ความเป็นคน
ดูอบอุ่น หรือมีความเอื้ออาทรผู้อื่น มีความอดทนสูงต่อความตึงเครียด รู้จักตนเองและมีวัตถุประสงค์ในการทำงาน
(2) คุณลักษณะด้านบุคลิกที่สัมพันธ์กับงาน เป็นคุณลักษณะด้านบุคลิกภาพที่แน่นอนของผู้นำที่มีประสิทธิผลและก่อให้เกิดความสำเร็จในการทำงาน ประกอบด้วย มีความคิดริเริ่ม มีความเข้าใจในอารมณ์และความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ความสามารถในการยืดหยุ่น มีความสามารถในการปรับตัว มีการควบคุมภายในตนเองจนเชื่อว่าตนเป็นผู้ควบคุมและกำหนดดวงชะตาชีวิตของตนเองได้ มีความกล้าหาญ มีความสามารถกลับสู่สภาพเดิม เป็นความสามารถในการที่จะแก้ปัญหาให้เรียบร้อยได้อย่างรวดเร็ว ไม่ยอมแพ้และไม่ท้อถอยในสิ่งใด ๆ
(3) บุคลิกลักษณะทางจิตใจ และทักษะทางปัญญา ประกอบด้วย การเปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง ความเชื่อมั่น ความคิดริเริ่ม ระดับเชาว์ปัญญาที่ฉลาดกว่าระดับปกติ สามารถวิเคราะห์ทางเลือกที่ดีกว่า หรือที่ดีที่สุดและสามารถชี้นำโอกาสที่เป็นไปได้ให้แก่ผู้ตามได้
(4) คุณลักษณะด้านการสังคม ประกอบด้วย สถานภาพทางสังคม ความสามารถในการเข้าสังคม การเป็นที่นิยมชมชอบ ระดับการศึกษา และมนุษยสัมพันธ์
(5) แรงจูงใจในการทำงาน ประกอบด้วย ความอุตสาหะ มีความต้องการเป็นอย่างมากที่จะทำงานให้ประสบความสำเร็จ มีความต้องการอำนาจ มีความต้องการที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา มีความรู้เกี่ยวกับงาน
Shelly Kirkpatrick and Edwin Locke (อ้างถึงใน นิตย์ สัมมาพันธ์, 2549) ได้ประมวลผลการวิจัยจากอดีตจนถึงปัจจุบัน สรุปได้ว่า ในบรรดาผู้นำที่ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในหน้าที่การงาน มักจะมีลักษณะเด่น ดังนี้
1) มีความทะเยอทะยานและมีพลังสูง (Ambition and Energy) เป็นผู้นำที่มีแรงขับผลักดัน
อยากที่จะทำงาน มีความคิดริเริ่ม มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะทำงานให้สำเร็จ มีพลังทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย มีความอดทนสู้งาน
2) มีความซื่อสัตย์และยึดถือหลักคุณธรรม ( Honesty and Integrity) เป็นผู้นำที่ผู้อื่นให้ความ
เชื่อถือและไว้วางใจ เพราะเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ รักษาคำพูดกับการกระทำ มีความจริงใจไม่หลอกลวง มีความโปร่งใสจนบุคคลอื่น ๆ สามารถทำนายพฤติกรรมได้ล่วงหน้า
3) มีความเชื่อมั่นในตนเอง (Self – Confidence) เป็นคนที่มีความมั่นใจในขีดความสามารถ
ของตนเอง และมีความเชื่อมั่นไว้วางใจในตนเอง สามารถชักจูงผู้ตามให้เชื่อถือในการตัดสินใจและพร้อมที่จะปฏิบัติงานที่จะนำไปสู่เป้าหมาย
4) มีความรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ (Job - Relevant Knowledge) เป็นผู้ที่มีความรอบรู้เป็นอย่างดี
เกี่ยวกับงานในหน่วยงานของตนเอง รวมทั้งมีความรู้พื้นฐานทางเทคนิค เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงานและการตัดสินใจได้ถูกต้อง
5) มีสติปัญญาที่ฉลาด (Cognitive Ability) ผู้นำจำเป็นที่จะต้องมีสติปัญญาอย่างเพียงพอเพื่อ
ให้สามารถเก็บรวบรวม สังเคราะห์และแปลข้อมูลจำนวนมาก เพื่อนำมาประกอบการคิดแก้ปัญหา และการตัดสินใจที่ถูกต้อง มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
6) มีความปรารถนาที่จะนำผู้อื่น (Desire to Lead) เป็นผู้มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะมี
อิทธิพลและนำผู้อื่น แสดงออกถึงความเต็มใจที่จะรับผิดชอบงานอย่างแท้จริง สามารถจูงใจคนให้เกิดแรงพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
7) มีความยืดหยุ่น (flexibility) เป็นผู้นำที่สามารถปรับตัวและปรับสิ่งอื่นให้เหมาะสมกับ
ความจำเป็นของสถานการณ์ และความต้องการของผู้ตาม
8) มีความอดทนต่อความเครียด (Tolerance for Stress) ผู้นำต้องอดทน สามารถที่จะทำงาน
ที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่แน่นอนได้ทุกรูปแบบ ในบทบาทของความเป็นผู้นำ
9) มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ (Emotional Maturity) ผู้นำจะต้องสามารถควบคุมความรู้สึกของตนเอง และสามารถรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์ได้
กล่าวโดยสรุป ทฤษฏีเชิงคุณลักษณะของผู้นำเชื่อว่า ภาวะความเป็นผู้นำขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและความสามารถของคนซึ่งมีลักษณะโดดเด่นเป็นพิเศษเฉพาะบางอย่าง ที่จะไม่พบในตัวบุคคลที่ไม่ใช่ผู้นำ เช่น มีความทะเยอทะยานและมีพลัง มีความซื่อสัตย์และยึดหลักคุณธรรม มีความปรารถนาดีที่จะนำผู้อื่น มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความสามารถด้านสติปัญญา มีความรู้เกี่ยวกับงานที่ทำ มีความอดทนต่อภาวะความเครียด และมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ จากแนวคิด ทฤษฏีและผลการวิจัย สามารถสรุปได้ว่าภาวะผู้นำเชิงคุณลักษณะของผู้นำ ประกอบด้วยคุณลักษณะด้านร่างกาย ด้านอารมณ์และจิตใจ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา และด้านคุณธรรม ซึ่งอาจได้มาตังแต่กำเนิด และสามารถเรียนรู้ได้ในภายหลังจากการศึกษา เรียนรู้ การสะสมประสบการณ์ การฝึกฝน จึงทำให้ผู้นำมีลักษณะที่โดดเด่นกว่าบุคคลทั่วไปในด้านต่าง ๆ จนกระทั่งสามารถทำให้บุคคลที่เป็นผู้ร่วมงานมีความไว้วางใจ เชื่อมั่น ศรัทธา และมีความยินดีให้ร่วมมือมือปฏิบัติตามด้วยเป็นอย่างดี
1.2.2 ทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม (Behavior Theories)
จากความไม่มั่นใจในทฤษฏีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้น แนวทางการศึกษาภาวะผู้นำจึงเปลี่ยนมาศึกษาด้านพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออกต่อผู้ตาม หรือ ผู้ปฏิบัติงานแทน ทฤษฏีพฤติกรรมเชื่อว่า แบบพฤติกรรมบางอย่างโดยเฉพาะทำให้ผู้นำแตกต่างจากผู้ไม่เป็นผู้นำ ในช่วง ปี ค.ศ. 1940 – 1960 เป็นระยะที่ศึกษาพฤติกรรมผู้นำที่มีประสิทธิผล ซึ่งได้แนวคิดมาจากทฤษฏีการบริหารแนววิทยาศาสตร์ ของ Tayler ในช่วงปี ค.ศ. 1900 ที่เน้นงานหรือผลผลิต และในช่วงปี 1940 ที่เน้นความสัมพันธ์ที่พบว่า พฤติกรรมผู้นำมีผลต่อทัศนคติและการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้นำที่แสดงออกมาด้วยจึงจะทำให้ผู้นำมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้นำมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ทฤษฏีพฤติกรรมของผู้นำยังมีความเกี่ยวข้องกับทฤษฏีคุณลักษณะของผู้นำโดยนัยด้วย จากการศึกษาพฤติกรรมผู้นำ ได้มีนักวิจัยจำนวนมากได้ศึกษาค้นคว้า จนได้รับ
การยอมรับว่าเป็นพื้นฐานสำคัญของภาวะผู้นำสมัยใหม่ ซึ่งเรียกว่า พฤติกรรมแห่งความสำเร็จของผู้นำ มีอย่างน้อย 3 แนวคิด ประกอบด้วย
(1) การศึกษาภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยไอโอวา Kurt Lewin และคณะได้ศึกษาวิจัยในนาม
ของมหาวิทยาลัยไอโอวา ผลการศึกษาได้กำหนดรูปแบบพฤติกรรมของผู้นำออกเป็น 3 รูปแบบ คือ
1) ผู้นำแบบเผด็จการ ( autocratic style) เป็นผู้นำที่ชอบใช้อำนาจโดยวิธีการออกคำสั่ง ควบคุมผู้ปฏิบัติงานอย่างเข้มงวด ยึดถือกฎระเบียบข้อบังคับเป็นเครื่องมือควบคุมการทำงาน มักจะตัดสินใจด้วยตนเองแต่ผู้เดียว ไม่ฟังความคิดเห็นของคนรอบข้าง มีรูปแบบการทำงานตายตัว และจำกัดการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน โดยให้รู้เพียงงานที่จะต้องทำในขั้นต่อไปเท่านั้น
2) ผู้นำแบบประชาธิปไตย (democratic style) เป็นผู้นำที่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน มีการโต้ตอบระหว่างผู้นำและผู้ปฏิบัติงานโดยใช้การป้อนกลับเป็นโอกาสในการชี้แนะ ช่วยเหลือให้ผู้ปฏิบัติงานได้พัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น
3) ผู้นำแบบเสรีนิยม (laissez - faire style) เป็นผู้นำที่ให้อิสระในการทำงานและการตัดสินใจ มีการมอบหมายงานแต่ปล่อยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานตามสบาย ผู้นำจะเป็นเพียงผู้คอยชี้แนะและให้คำแนะนำในบางโอกาส
จากผลการวิจัยเชิงทดลองของ Lewin และคณะ พบว่า ภาวะผู้นำแบบเสรีนิยมให้ผลงานที่อ่อนด้อยที่สุด สำหรับภาวะผู้นำแบบเผด็จการและแบบประชาธิปไตย แม้ว่าจะได้ปริมาณงานที่เท่าเทียมกัน แต่คุณภาพของงานและความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงานพบว่า ผู้นำแบบประชาธิปไตยสูงกว่ากลุ่มผู้นำแบบเผด็จการ เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงทำให้เกิดความพึงพอใจมากกว่า
(2) การศึกษาภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ
ได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับภาวะผู้นำตามการรับรู้ของผู้ปฏิบัติงาน จากการศึกษาและวิจัยสามารถจำแนกพฤติกรรมผู้นำ ออกเป็น 2 แบบ คือ
1)ผู้นำแบบมุ่งงาน (initiating structure) ผู้นำแบบนี้มีลักษณะของความกระตือรือร้น มีความคิดริเริ่ม มีการกำหนดเป้าหมายและบทบาทหน้าที่ของผู้นำและผู้ปฏิบัติงานไว้อย่างชัดเจน
มีการวางแผนการทำงาน และกำหนดตารางเวลาทำงานแน่นอน เน้นการทำงานให้เป็นไปตามขั้นตอน มีการกำหนดมาตรฐานงาน มีการติดต่อสื่อสารกับทุกคนมีการมอบหมายงานที่ชัดเจน มีความคาดหวังในผลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาไว้สูง มีการกำหนดระยะเวลาความสำเร็จของงาน
2) ผู้นำแบบมุ่งคน (consideration) ผู้นำแบบนี้มีลักษณะของการดูแบเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุข และสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้นำมีมิตรภาพทีดีกับผู้ปฏิบัติงาน มีความไว้วางใจต่อกัน ยอมรับฟังความคิดเห็น ให้มีส่วนร่วมในการบริหารและการตัดสินใจ มีการติดต่อสื่อสารที่ดี ให้ความอบอุ่น เอาใจใส่ดูแลขวัญและกำลังใจ และสวัสดิการต่าง ๆ ของผู้ปฏิบัติงาน
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้นำที่มีพฤติกรรมทั้งแบบมุ่งงาน และแบบมุ่งคน มีแนวโน้มที่ผู้ปฏิบัติงานจะประสบความสำเร็จ และมีความพอใจสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้นำที่อ่อนด้านใดด้านหนึ่ง หรืออ่อนทั้งสองด้าน อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่มีพฤติกรรมทั้งแบบมุ่งงาน และแบบมุ่งคนก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีผลเป็นบวกเสมอ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมของผู้นำแบบนี้จะทำให้อัตราความไม่พอใจ การขาดงาน การเข้าออกจากงานจะสูง
(3) การศึกษาภาวะผู้นำของมหาวิทยาลัยมิชิแกน มหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้ศึกษาวิจัยเพื่อหาแนวทางพัฒนาพฤติกรรมของผู้นำโดยสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงาน ผลการศึกษาวิจัยพอสรุปได้ว่า แบบพฤติกรรมของผู้นำมี 2 แบบ คือ
1) แบบที่มุ่งเน้นงาน (job centered) ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมของผู้นำที่เน้นการควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เน้นวิธีการ ขั้นตอน เทคนิคในการทำงาน ผู้นำจะให้ความสนใจกับความสำเร็จของงานเป็นหลัก โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกและสภาพจิตใจของผู้ปฏิบัติงานมากนัก มีการวางแผน กำหนดตารางเวลาการปฏิบัติงาน การประสานงานกับผู้ใต้บังคับบัญชา จัดหาวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็น และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคกับผู้ใต้บังคับบัญชา
2) แบบมุ่งตัวคน (employee – centered)หมายถึงพฤติกรรมผู้นำที่เน้นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ปฏิบัติงาน ผู้นำจะคำนึงถึงสภาพจิตใจ ทุกข์สุข และสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงาน จะพยายามสร้างความสามัคคีในกลุ่มงาน สนใจความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีพฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นถึง ความไว้วางใจ ความมั่นใจ การแสดงความเป็นมิตร มีการรวมกลุ่มระหว่างบุคคลเพื่อระดมความคิด สร้างความร่วมมือและการตกลงร่วมกัน สร้างแรงดลใจให้บุคคลอื่น ทำให้คนรู้สึกว่างานมีความสำคัญต่อเขา สร้างความร่วมมือในทีมงาน มีความสามารถกระตุ้นจูงใจให้บุคคลเกิด
ความพึงพอใจในงาน ช่วยพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความก้าวหน้าในอาชีพ ให้คำแนะนำที่ดีในการทำงาน สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ทำให้ได้รับการยกย่องนับถือจากผู้ปฏิบัติงาน
สรุปได้ว่า ทฤษฏีพฤติกรรมเชื่อว่า แบบพฤติกรรมบางอย่างโดยเฉพาะทำให้ผู้นำแตกต่างจากผู้ไม่เป็นผู้นำ ประกอบด้วย 3 ทฤษฏี คือ การศึกษาของ Lewin ได้กำหนดพฤติกรรมของผู้นำออกเป็น 3 รูปแบบ คือ ผู้นำแบบเผด็จการ ผู้นำแบบประชาธิปไตย และผู้นำแบบเสรีนิยม การศึกษาของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ ได้จำแนกพฤติกรรมของผู้นำออกเป็น 2 แบบ คือ ผู้นำแบบมุ่งงาน และผู้นำแบบมุ่งตัวบุคคล ส่วนการศึกษาของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ได้แบ่งพฤติกรรมผู้นำออกเป็น 2 รูปแบบ คือ พฤติกรรมผู้นำแบบมุ่งเน้นงาน และพฤติกรรมผู้นำแบบมุ่งเน้นตัวคน และพบว่าผู้นำที่มุ่งแบบตัวคนจะทำให้ได้ผลงานที่สูงกว่า และสร้างความพอใจให้กับพนักงานได้มากกว่า จากแนวคิด ทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรมที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า ผู้นำที่ดีมีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จนั้น เป็นผลเนื่องมาจากพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผู้นำแสดงออกมา ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละองค์การ เช่น วุฒิภาวะของผู้ร่วมงาน ลักษณะของงาน จากแนวคิด ทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงพฤติกรรม ผู้วิจัยสามารถสรุปเป็นภาพประกอบได้ ดังนี้

1.2.3ทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ ( Contingency Leadership Theories )
ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ทฤษฏีผู้นำคุณลักษณะและทฤษฏีพฤติกรรมผู้นำ ได้พยายาม
มุ่งเน้นไปที่รูปแบบการเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ ซึ่งดูเหมือนว่าจะไม่มีรูปแบบการเป็นผู้นำที่ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ ดังนั้นจึงมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอิทธิพลของสถานการณ์ที่มีอยู่ต่อรูปแบบของภาวะผู้นำ เพื่ออธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรูปแบบของการเป็นผู้นำและสถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง หรือที่เรียกว่า ทฤษฏีผู้นำเชิงสถานการณ์ ประกอบไปด้วยทฤษฏีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
1.ทฤษฏีผู้นำเชิงสถานการณ์ของ Feidler
2.ทฤษฏีผู้นำตามสถานการณ์ของ Hersey และ Blanchard
3.ทฤษฏีผู้นำตามเส้นทางสู่เป้าหมายของ House
4.ทฤษฏีการมีส่วนร่วม (Leader Participation Model)

1.ทฤษฏีผู้นำเชิงสถานการณ์ (Contingency Theory)
ในปี ค.ศ. 1967 Fiedler ได้เสนอตัวแบบความเป็นผู้นำเชิงสถานการณ์ โดยมีกรอบแนวคิดว่า ผู้นำที่มีประสิทธิผลขึ้นอยู่กับความสอดคล้องเหมาะสมระหว่างรูปแบบภาวะผู้นำกับสถานการณ์เฉพาะเจาะจงขององค์การ หรือสิ่งแวดล้อมในขณะนั้น จะเป็นตัวกำหนดประสิทธิผลของการทำงานให้สัมฤทธิ์ผล ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ
1) แบบภาวะผู้นำ (Leadership Style)เป็นการวิเคราะห์แบบการเป็นผู้นำโดยใช้แบบทดสอบ
วัดบุคลิกภาพของผู้นำโดยผู้ปฏิบัติงาน ผลการวิเคราะห์สามารถจำแนกแบบการเป็นผู้นำออกเป็น 2 แบบ คือ ผู้นำแบบมุ่งความสัมพันธ์ (relationship motivation) ผู้นำลักษณะนี้จะพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้ปฏิบัติงาน โดยพยายามเอาใจใส่ดูแลทุกข์สุข ให้สวัสดิการ หรือค่าตอบแทนที่ผู้ปฏิบัติงานพึงพอใจ สร้างบรรยากาศการทำงานที่อบอุ่นเป็นกันเอง ให้ความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน บุคลิกแบบนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แบบมุ่งคน ผู้นำแบบมุ่งงาน (task motivation ) ผู้นำลักษณะนี้จะเอาแต่ทำงาน และคำนึงถึงผลสำเร็จของงานเป็นหลัก ไม่ค่อยจะคำนึงถึงความรู้สึกหรือความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน จะสังเกตได้ว่าบุคลิกผู้นำทั้ง 2 แบบ มีลักษณะใกล้เคียงกับแบบพฤติกรรมผู้นำของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท และของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เพียงแต่ Fiedler เห็นว่าลักษณะการมุ่งคนเป็นบุคลิกของผู้นำ ซึ่งเป็นลักษณะภายในตัวบุคคล ส่วนกลุ่มของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ และมหาวิทยาลัยมิชิแกน เห็นว่าลักษณะมุ่งงานและมุ่งคนเป็นพฤติกรรมของผู้นำที่แสดงออกมาซึ่งสามารถสังเกตได้อย่างชัดเจน
2) การควบคุมสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง (Situational Control) หรือสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพล จากการศึกษาและวิจัยของ Fiedler สามารถกำหนดสถานการณ์ที่เป็นใจให้ผู้นำสามารถควบคุมผู้อื่นออกเป็นระดับต่างๆ ตั้งแต่สถานการณ์ที่เป็นใจมากที่สุด เป็นสถานการณ์ที่เอื้อให้ผู้นำสามารถกำหนด
ภาระงาน ควบคุมผลงาน สามารถตัดสินใจแทนสมาชิกในกลุ่มงานได้มากที่สุดไปจนถึงสถานการณ์เป็นใจกับผู้นำน้อยที่สุด หมายถึง สถานการณ์ที่ผู้นำไม่สามารถควบคุมผลงาน และตัดสินใจแทนสมาชิกในกลุ่มได้ ซึ่งสถานการณ์จะเป็นใจหรือไม่เป็นใจกับผู้นำนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยสถานการณ์ 3 ประการ คือ 1) ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ปฏิบัติงาน (leader – member relations) หมายถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้นำและผู้ปฏิบัติงาน มีความซื่อสัตย์ไว้วางใจกัน มีการยอมรับและให้ความเคารพนับถือในตัวผู้นำ ดังนั้น คุณภาพของความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับผู้ปฏิบัติงานจึงขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้นำ 2) โครงสร้างงาน (task structure) หมายถึง มีการกำหนดเป้าหมาย วิธีการ และมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน มีขั้นตอนการปฏิบัติงานตามระดับโครงสร้างของงานอย่างเป็นระบบ มีการมอบหมายงานตามภารกิจไว้อย่างชัดเจน มีวิธีการควบคุมตรวจสอบผลงานที่ชัดเจน และมีข้อมูลย้อนกลับจากการปฏิบัติงาน 3) อำนาจตามตำแหน่งงาน( position power) เป็นการใช้อำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการของผู้นำ หรืออำนาจที่ได้รับจากตำแหน่งในองค์การซึ่งบุคคลนั้นครองอยู่ เพื่อควบคุมผู้ปฏิบัติงานและการควบคุมสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์การ รวมถึงการใช้อำนาจในการจ้าง การไล่ออก การกำหนดระเบียบวินัย การให้ผลตอบแทน การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง และการลงโทษตามอำนาจของผู้นำ
3) วิเคราะห์ความสอดคล้องของแบบภาวะผู้นำและการควบคุมสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง ในการหาคำตอบว่าภาวะผู้นำแบบใดจะมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ใด Fiedler ได้นำแบบภาวะผู้นำกับสถานการณ์มาสร้างเป็นตัวแบบสถานการณ์ต่างๆ 8 สถานการณ์ โดยเริ่มจากสถานการณ์ที่เป็นใจแก่ผู้นำมากที่สุด ไปจนจึงสถานการณ์ที่เป็นใจแก่ผู้นำน้อยที่สุด และแบบภาวะผู้นำก็จะผันแปรตามสถานการณ์ต่าง ๆ Fielder ได้รวบรวมข้อมูลจากการศึกษาไม่น้อยกว่า 800 กลุ่ม โดยใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 10 ปี ผลการศึกษาวิจัยสรุปได้ว่า ไม่มีแบบภาวะผู้นำแบบใดมีประสิทธิผลที่สุดในทุกสถานการณ์ สถานการณ์แต่ละอย่างต้องการแบบภาวะผู้นำที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังพบว่า ในสถานการณ์ที่ต้องควบคุมมาก ผู้นำแบบมุ่งงานจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าผู้นำแบบมุ่งความสัมพันธ์ ในสถานการณ์ที่ต้องควบคุมในระดับปานกลาง ผู้นำแบบมุ่งความสัมพันธ์จะมีประสิทธิผลสูงกว่าแบบมุ่งงาน และในสถานการณ์ที่ควบคุมน้อย ผู้นำแบบมุ่งงานจะมีประสิทธิผลสูงกว่าผู้นำแบบมุ่งความสัมพันธ์
2. ทฤษฏีผู้นำตามสถานการณ์ของ (Situational Theory)
แนวคิดของทฤษฎีนี้ Hersey และ Blanchard ให้ข้อเสนอแนะว่าประสิทธิผลของผู้นำขึ้นอยู่กับการเลือกแบบภาวะผู้นำให้เหมาะสมกับวุฒิภาวะและความเต็มใจที่จะทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ภายใต้ทฤษฏีนี้ อาศัยพื้นฐานจากแนวคิดจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยโอไฮโอ สเตท ทำให้สามารถจำแนกพฤติกรรมผู้นำออกเป็น 2 แบบ คือ พฤติกรรมแบบมุ่งงาน(task behavior) และพฤติกรรมแบบมุ่งความสัมพันธ์ (relationship behavior ) จากการผสมผสานระหว่างพฤติกรรมผู้นำทั้งสอบแบบ ทำให้เกิดรูปแบบภาวะผู้นำ 4 แบบ ประกอบด้วย
(1) ผู้นำแบบบอกงาน (Telling) ผู้นำแบบนี้จะให้ความสำคัญของงานหรือผลผลิตมากกว่า
ความสำคัญของคน มีการบอกหรือสั่งให้ทำงานอย่างชัดเจน มีการควบคุมอย่างใกล้ชิดเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานขาดความสามารถ ขาดความมั่นใจ และไม่รับผิดชอบงาน
(2) ผู้นำแบบขายความคิด (Selling) ผู้นำแบบนี้ยังเน้นงานแต่จะอธิบายสิ่งที่ตนต้องการหรือที่ตัดสินใจแล้วให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ พร้อมเปิดโอกาสให้ซักกถามเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับงานที่จะทำ ตลอดจนชักจูงให้ทำงานเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานยังไม่มีความสามารถแต่เริ่มมีความเข้าใจและอยากที่จะทำงานมากขึ้น
(3) ผู้นำแบบให้มีส่วนร่วม (Participating) ผู้นำแบบนี้จะให้ความสำคัญของคนมากแต่ให้ความสำคัญกับงานหรือผลผลิตน้อยกว่า ผู้นำจะปรึกษา หารือกับผู้ปฏิบัติงาน เน้นการร่วมกันออกความคิดเห็น ร่วมกันตัดสินใจ และร่วมกำหนดทิศทางของงาน เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมีความสามารถ มีความรับผิดชอบ และเต็มใจที่จะทำงาน
(4) ผู้นำแบบมอบหมายงาน (Delegating) เป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญน้อยทั้งงานและคน เนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมีความสามารถแล้ว และไม่อยากที่จะทำงานตามคำสั่ง ต้องการใช้ความสามารถของตน ต้องการโอกาส ต้องการอิสระ มีความมั่นใจและเต็มใจที่จะรับผิดชอบงาน ผู้นำแบบนี้จะให้ทิศทางในการทำงานและการสนับสนุนแก่ผู้ปฏิบัติงาน จึงมอบหมายงานและการตัดสินใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน
3.ทฤษฏีเส้นทางสู่เป้าหมายของ (Path - Goal Theory)
Rober House ได้พัฒนาทฤษฏีนี้โดยการเชื่อมโยงแนวคิดพื้นฐานจากทฤษฏีความคาดหวัง (Expectancy) ของ Martin Evan มาศึกษาถึงพฤติกรรมผู้นำว่า อะไรมีอิทธิพลต่อการรับรู้และแรงจูงใจ เพื่อดูเส้นทาง (Path) ความพยายามในการทำงานให้ถึงเป้าหมาย (Goals) ตามความคาดหวังของผู้ปฏิบัติงาน เช่น การเลื่อนตำแหน่ง การประสบผลสำเร็จในการทำงาน การได้รับรางวัลที่พึงปรารถนา การได้รับคำยกย่องชมเชย เป็นต้น แนวคิดนี้เชื่อว่า พฤติกรรมผู้นำจะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดแรงจูงใจและความพยายามที่จะทำงานให้สำเร็จก็คือการชี้แนะให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่า เขาจะทำงานอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จและได้รับรางวัลตามต้องการ ดังนั้นพฤติกรรมของผู้นำต้องเป็นเชิงกระตุ้นจูงใจผู้ปฏิบัติงานด้วยการสร้างความพอใจ และสร้างอิทธิพลเหนือบทบาทการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน โดยการใช้วิธีสนับสนุนผู้ปฏิบัติงานให้มีโอกาสที่จะดำเนินงานให้สัมฤทธิ์ผลตามเป้าหมายต่าง ๆ ทั้งขององค์การและของตัวเองไปพร้อม ๆ กัน ตามแนวคิดทฤษฏีเส้นทางสู่เป้าหมายนี้นำมาสู่การพัฒนาพฤติกรรมภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล โดยผู้นำที่ประสบผลสำเร็จจะต้องเลือกความเป็นผู้นำให้เหมาะสมไปตามความพร้อม หรือวุฒิภาวะของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ดังนี้ต่อไปนี้
(1) รูปแบบพฤติกรรมของผู้นำ รูปแบบของการเป็นผู้นำ ที่ทำให้งานสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายได้ มี 4 รูปแบบด้วยกัน คือ
1) ผู้นำแบบสั่งการ(Directive leader)เป็นผู้นำที่มุ่งใช้อำนาจสั่งการ เป็นผู้คอยกำหนดระเบียบ
ข้อบังคับ วิธีปฏิบัติงาน รวมถึงคอยควบคุมให้ผู้ปฏิบัติงานปฏิบัติตามระเบียบ วิธีการที่วางไว้ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหาร หรือการแสดงความคิดเห็นใด ๆ
2) ผู้นำแบบสนับสนุน (Supportive leader) เป็นผู้นำที่คอยช่วยเหลือสนับสนุนเกื้อกูล ให้ความเป็นมิตรและความเป็นกันเองแก่ผู้ปฏิบัติงาน สร้างความสัมพันธ์อันดี ความอบอุ่นและเป็นกันเองกับผู้ปฏิบัติงาน สร้างบรรยากาศของความร่วมมือ ปฏิบัติต่อทุกคนในองค์การอย่างเท่าเทียมกัน
3) ผู้นำแบบให้มีส่วนร่วม (Participative) เป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือ รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงาน เปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
4) ผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ (Achievement Oriented leader) เป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมเน้นความสำคัญของการทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมาย เป็นผู้วางแผน กำหนดเป้าหมาย และมาตรฐานการทำงานไว้ แล้วจึงจูงใจให้ผู้ปฏิบัติงานเต็มใจที่จะทำงานให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ สนับสนุนความสามารถ และพยายามช่วยผู้ปฏิบัติงานให้ปรับปรุงผลการปฏิบัติงาน ตลอดจนให้รางวัลกับผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานได้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้
(2) ปัจจัยสถานการณ์ นอกจากการเลือกรูปแบบพฤติกรรมผู้นำที่เหมาะสมแล้ว ผู้นำต้องพิจารณาถึงปัจจัยสถานการณ์ที่จะนำไปใช้ ตามทฤษฏีนี้ได้เสนอปัจจัยสถานการณ์ไว้ 2 ประเภท คือ
1) ปัจจัยด้านคุณลักษณะของผู้ปฏิบัติงาน เช่น ระดับความสามารถในการรับรู้ ประสบการณ์ การควบคุมตนเอง
2) ปัจจัยด้านสภาวะแวดล้อมในที่ทำงาน เช่น มีโครงสร้างของงานที่ชัดเจน กฎ ระเบียบของหน่วยงาน ระบบอำนาจหน้าที่อย่างเป็นทางการ ความสัมพันธ์ของบุคคลในกลุ่มงาน
3) แรงจูงใจของผู้ปฏิบัติงาน เนื่องจากแนวคิดของทฤษฏีนี้เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมผู้นำที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดแรงจูงใจที่จะทำงานให้สำเร็จ ดังนั้นทฤษฏีนี้จึงได้นำปัจจัยด้านแรงจูงใจของผู้ปฏิบัติงานจากทฤษฏีความคาดหวัง (Expectancy Theory) ของ Vroom มาใช้ โดยแยกออกเป็น 2 ลักษณะ ประกอบด้วย ความคาดหวังว่าถ้าเขาพยายามเขาจะทำงานได้สำเร็จ และ ความคาดหวังว่าถ้าทำงานสำเร็จเขาจะได้รางวัลที่มีคุณค่า
(4) ผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติงาน จากการที่ผู้นำรู้จักปรับแบบพฤติกรรมให้เหมาะสมกับปัจจัยคุณลักษณะของผู้ปฏิบัติงาน และปัจจัยสภาวะแวดล้อม จะส่งผลต่อผู้ปฏิบัติงานเกิดแรงจูงใจ และความคาดหวังทั้ง 2 ประการ ซึ่งในที่สุดจะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจในการทำงาน มีแรงจูงใจที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนได้รับการยอมรับจากผู้นำเพิ่มมากขึ้น
4.ทฤษฏีการมีส่วนร่วม (Leader Participation Model)
ทฤษฏีนี้ได้พัฒนาโดย Vroom และ Yetton เพื่อช่วยให้ผู้นำสามารถเลือกวิธีการตัดสินใจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับแต่ละสถานการณ์หรือปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ขณะนั้น แนวคิดของทฤษฏีนี้ คือ ผู้นำที่มีประสิทธิภาพคือผู้ที่สามารถเลือกและใช้วิธีการในการตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมจากทางเลือกดังต่อไปนี้
1) การตัดสินใจแบบรวบอำนาจ ( authority decision) เป็นวิธีการตัดสินใจโดยผู้นำแต่เพียงผู้เดียว แล้วจึงแจ้งให้ผู้ปฏิบัติงานทราบ การมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานจะมีน้อยมาก ผู้นำจะใช้ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในการตัดสินใจ
2) การตัดสินใจแบบปรึกษาหารือ (consultative decision) เป็นวิธีที่ผู้นำตัดสินใจ หลังจากได้สอบถามข้อมูล ความคิดเห็น หรือข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งผู้นำอาจปรึกษาผู้ปฏิบัติงานเฉพาะคน หรือกับทุกคนในที่ประชุมก็ได้ แต่ในที่สุดแล้วผู้นำก็ยังเป็นผู้ตัดสินใจเอง
3) การตัดสินใจโดยกลุ่ม ( group decision) เป็นการตัดสินใจที่สมาชิกทุกคนในองค์การ มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ พร้อมทั้งมีส่วนร่วมในการลงมือทำงานด้วยกัน มีการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ การตัดสินใจโดยใช้แนวทางนี้แท้ที่จริงเป็นการเพิ่มอำนาจ (empowerment) ให้กับผู้ปฏิบัติงานนั่นเอง
ในการใช้ทฤษฏีนี้ ผู้นำจะต้องมีข้อมูลประกอบในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น เพราะเป็นวิธีการตัดสินใจแบบมีส่วนร่วมที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพในการตัดสินใจ และเพิ่มการยอมรับเนื่องจากผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วม จึงมีความเข้าใจและมีความผูกพันต่อการตัดสินใจ นอกจากนี้วิธีนี้ยังช่วยพัฒนาภาวะผู้นำให้เกิดในตัวผู้ปฏิบัติงาน จากการกล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก แต่อย่างไรก็ตามวิธีนี้ค่อนข้างใช้เวลามากในการตัดสินใจเนื่องจากต้องสอบถามความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและต้องใช้ข้อมูลจำนวนมาก ทำให้บางกรณีที่ผู้บริหารไม่มีเวลาเพียงพอเนื่องจากปัญหาต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน การตัดสินใจแบบรวบอำนาจจึงเป็นทางออกสำหรับผู้นำ ดังนั้นผู้นำจะต้องรู้ดีว่าในสถานการณ์ใดควรเลือกวิธีการตัดสินใจแบบใด เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากวิธีการตัดสินใจให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายขององค์การ
สรุปได้ว่า ทฤษฏีเชิงสถานการณ์ เกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ว่า รูปแบบภาวะผู้นำจะต้องสอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งมี 4 ทฤษฏี คือ ทฤษฏีภาวะผู้นำเชิงสถานการณ์ได้แบ่งพฤติกรรมผู้นำออกเป็น 2 แบบ คือ ผู้นำแบบมุ่งงานและ ผู้นำที่มุ่งความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ทฤษฏีภาวะผู้นำตามสถานการณ์ ได้แบ่งรูปแบบภาวะผู้นำออกเป็น 4 แบบ คือ แบบบอกงาน แบบขายความคิด แบบมีส่วนร่วม และแบบมอบหมายงาน ทฤษฏีเส้นทางสู่เป้าหมาย ได้กำหนดพฤติกรรมของผู้นำไว้ 4 รูปแบบ คือ ผู้นำแบบชี้นำ ผู้นำแบบให้การสนับสนุน ผู้นำแบบมีส่วนร่วม และผู้นำแบบมุ่งความสำเร็จ ส่วนทฤษฏีการมีส่วนร่วมของ มีแนวคิดว่า ประสิทธิผลของภาวะผู้นำขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ โดยได้แบ่งรูปแบบการตัดสินใจอออกเป็น 3 รูปแบบ คือ การตัดสินใจแบบรวบอำนาจ การตัดสินใจแบบปรึกษาหารือ และการตัดสินใจโดยกลุ่ม จากแนวคิด ทฤษฏีที่กล่าวมา แสดงให้เห็นว่า ในองค์การที่ต่างกันจะนำไปสู่เงื่อนไขหรือสถานการณ์ที่ต่างกัน ผู้นำจะต้องบริหารในอีกลักษณะหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหาร และสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ซี่งผู้นำต้องเลือกแบบภาวะผู้นำมาใช้ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
1.2.4 ทฤษฏีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Transformational Leadership Theories)
จากสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันที่รุนแรง มีปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ผู้บริหารจำเป็นต้องคอยกระตุ้นและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์การ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ปฏิบัติงานเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตลอดจนยอมให้ผู้ปฏิบัติงานมีอิสระในการทำงานมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้บริหารต้องหารูปแบบภาวะผู้นำที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารงานองค์ให้ประสบความสำเร็จ ส่งผลให้มีการพัฒนารูปแบบภาวะผู้นำที่หลายหลายมากขึ้น ในปี ค.ศ 1979 Burns ได้เขียนหนังสือชื่อ leadership โดยเสนอแนวคิดว่า ภาวะผู้นำทางการเมืองนั้นมี 2 แบบ คือ ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน (transactional leadership) กับ ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนแปลง (transformational leadership) ต่อมาในปี ค.ศ. 1985 Bassได้นำแนวคิดของ Burn มาพัฒนาและเสนอรูปแบบภาวะผู้นำที่ใช้ในการบริหารองค์การ โดยแบ่งผู้นำออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน และภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง
1) ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน ( transaction leadership)แนวคิดเกี่ยวกับภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน มีพื้นฐานมาจากทฤษฏีการแลกเปลี่ยนทางสังคม (Exchange Theory โดยเน้นการแลกเปลี่ยนประโยชน์ระหว่างผู้นำกับผู้ปฏิบัติงาน ทั้งผู้นำและผู้ปฏิบัติงานต่างก็มีอิทธิพลซึ่งกันและกัน ต่างอำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน ต่างฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ตอบแทน โดยมีการสัญญาว่าจะให้รางวัลหรือสิ่งตอบแทนหากผู้ปฏิบัติงานยินยอมทำตามข้อเสนอของผู้นำ ในสภาพการเช่นนี้ ผู้นำจะมีอิทธิพลมากเพราะผู้ปฏิบัติงานมักจะสนใจทำแต่ในสิ่งที่ผู้นำต้องการ เพื่อแลกกับความก้าวหน้า หรือตำแหน่งหน้าที่ที่สูงขึ้น
จากการวิจัยของ Bass (1988) โดยวิธีวิเคราะห์องค์ประกอบของภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน พบว่า มีองค์ประกอบที่สำคัญ 2 องค์ประกอบ คือ 1) การให้รางวัลตามสถานการณ์ (contingent reward) หมายถึง การที่ผู้นำและผู้ปฏิบัติงานตกลงกันว่า ถ้างานประสบความสำเร็จผู้ปฏิบัติงานจะได้รับสิ่งตอบแทนที่เหมาะสม เช่น การให้โบนัส การพิจารณาความดีความชอบ การเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งเปรียบเหมือนการเสริมแรงทางบวก Klimoski & Hayes (1980, อ้างถึงใน อำภา ปิยารมย์, 2549) ได้ศึกษาพฤติกรรมการให้รางวัลโดยมีเงื่อนไขที่เหมาะสมของผู้ปฏิบัติงาน พบว่า พฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้นำ ประกอบด้วย การให้คำแนะนำที่ชัดเจน การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้นำและผู้ปฏิบัติงาน ผู้นำยอมให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานของงาน สนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานมีความพยายามในการทำงานให้สำเร็จ ทบทวนการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง และ มีความมั่นคงสม่ำเสมอกับผู้ปฏิบัติงาน 2) การบริหารแบบวางเฉย (management exception) เป็นการบริหารงานที่ปล่อยให้เป็นไปตามสภาพเดิมขององค์การ ผู้นำไม่พยายามเข้าไปยุ่งกับงานจนกว่าจะมีข้อบกพร่องหรือเกิดความผิดพลาดขึ้น หรือการปฏิบัติงานต่ำกว่ามาตรฐาน ผู้นำจะแก้ไขโดยใช้การเสริมแรงทางลบ เช่น การตำหนิ ทำโทษ ลดขั้นเงินเดือน ให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงลบ การบริหารงานไม่ได้มุ่งเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ปล่อยให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานตามปกติ ไม่พยายามให้แรงจูงใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน
2)ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง (transformational leadership) ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นแนวคิดของทฤษฏีแนวใหม่ ที่ชี้ให้เห็นถึงคุณลักษณะของผู้นำไม่รวมผู้ปฏิบัติงานและสถานการณ์ ซึ่งมีความเชื่อว่าผู้นำจะเป็นกระตุ้นให้สมาชิกเกิดความสนใจตนเองที่จะปฏิบัติงานในองค์การ จากการศึกษาคุณลักษณะของผู้นำการเปลี่ยนแปลง พบว่า เป็นผู้นำที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นคนกล้าและเปิดเผย มีการเรียนรู้ตลอดเวลา เป็นผู้มองการณ์ไกล มีความสามารถที่จะเผชิญปัญหาที่ซับซ้อน มีความคิดเชิงบวก มีความสำนึกในส่วนรวม สามารถสร้างแรงจูงใจและสร้างแรงดลใจให้เกิดกับผู้ปฏิบัติงาน Bass & Avolio (1990) ได้ศึกษาองค์ประกอบภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยศึกษาในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีความแตกต่างกันจำนวน 14 กลุ่ม จากการวิเคราะห์องค์ประกอบพบว่า ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง มีองค์ประกอบ 4 องค์ประกอบคือ ความมีเสน่ห์ การดลใจการกระตุ้นการใช้ปัญญาและการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกชน
(1) ความมีเสน่ห์ (Charismatic) ผู้นำประเภทนี้มีความสามารถในการชักนำ เกลี้ยกล่อม จูงใจ และมีพลังที่จะกระตุ้นอารมณ์ให้คนอื่นมีความคล้อยตาม มีอิทธิพลต่อผู้ปฏิบัติงานโดยการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีโดยทำหน้าที่ เป็นครู เป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นโค้ช จากการวิจัยพบว่า ผู้ปฏิบัติงานจะมีความเชื่อถือ ศรัทธา ภูมิใจ และเชื่อในความสามารถของผู้นำที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ผู้ปฏิบัติงานเห็นว่าผู้นำทำให้ตนมีความกระตือรือร้นต่องานที่ได้รับมอบหมาย ดลใจให้เกิดความภักดี เป็นผู้นำที่ชี้ทางไปสู่เป้าหมาย กระตุ้นในเกิดแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง สามารถจุดประกายให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดวิสัยทัศน์และมีพันธะผูกพันกับภารกิจ เห็นคุณค่าของเป้าหมายและเชื่อมั่นว่าจะสามารถปฏิบัติงานจนบรรลุเป้าหมายได้
จากการศึกษาของ Bass และ Avolio พบว่ามีความสอดคล้องกับ ทฤษฏีภาวะผู้นำของ House (อ้างถึงใน เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ , 2550) ที่แสดงให้เห็นว่า ผู้นำความมีเสน่ห์ มีลักษณะดังนี้
1. มีความต้องการอำนาจ มีความเชื่อมั่นในตนเอง ความต้องการมีอำนาจก็เพื่อมีอิทธิพลต่อผู้ปฏิบัติงาน
2. มีพฤติกรรมที่แสดงว่าเป็นคนเก่ง และประสบความสำเร็จจนเป็นที่ประทับใจผู้ปฏิบัติงาน ความประทับใจของผู้ปฏิบัติงานนี้จะทำให้เกิดความเชื่อในการตัดสินใจของผู้นำและเชื่อฟังผู้นำ
3. ตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับค่านิยมและอุดมการณ์ของผู้ตาม วิธีการนี้จะทำให้ผู้ตามเห็นการปฏิบัติงานของกลุ่มมีความหมายและดลใจให้ผู้ปฏิบัติงานมีความกระตือรือร้นในการปฏิบัติงาน
4. แสดงพฤติกรรมที่เป็นตัวอย่างเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานเอาอย่าง ผู้นำจะเป็นตัวแบบของบทบาท สำหรับผู้ปฏิบัติงาน
(2) การดลใจ ( Inspirational ) เป็นวิธีการที่ผู้นำอธิบายเป้าหมายในอนาคตขององค์การซึ่งผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วม อธิบายให้ผู้ปฏิบัติงานทราบว่า จะช่วยกันปฏิบัติภารกิจให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างไร โน้มน้าวจิตใจให้ผู้ปฏิบัติงานเปลี่ยนแปลงความสนใจเพื่อตนเองไปสู่การกระทำเพื่อประโยชน์ของกลุ่มหรือองค์การ สร้างความมั่นใจให้เกิดแก่ผู้ปฏิบัติงาน ให้ผู้ปฏิบัติงานเห็นคุณค่าของงานทำและเชื่อว่าตนเองสามารถที่จะทำงานได้สำเร็จโดยใช้ความพยายามเพิ่มขึ้น
3) การกระตุ้นการใช้ปัญญา ( Intellectual stimulation) ผู้นำลักษณะนี้จะยั่วยุให้ผู้ปฏิบัติงานพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมให้คิดเชิงวิเคราะห์ มียุทธศาสตร์ในการคิด แก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความรอบคอบ เกิดมโนทัศน์ เกิดความเข้าใจ และมองเห็นถึงปัญหาที่กำลังประสบอยู่ และหาแนวทางแก้ไขปัญหาในลักษณะป้องกันไว้ก่อน รวมถึงการใช้ความคิดและการใช้ดุลยพินิจก่อนลงมือปฏิบัติงาน ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับการสนับสนุนให้คิดเอง และเน้นการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล
4) การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกชน ( Individualize consideration) ผู้นำจะให้ความสนใจกับความต้องการของแต่ละคน และมอบหมายงานที่เป็นประโยชน์เพื่อจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานมีความก้าวหน้าส่วนตน ผู้นำแบบนี้จะปฏิบัติตนเป็นเช่นครูฝึก และผู้ให้คำแนะนำแก่เพื่อนร่วมงาน ใช้การบริหารงานแบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับงาน ให้ความสนใจเป็นพิเศษแก่ผู้ปฏิบัติงานที่มีปัญหา ปฏิบัติต่อผู้ใต้บังคับบัญชาเสมือนอยู่ในสถานะเดียวกัน เป็นผู้ที่ให้คำแนะนำช่วยเหลือสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานมีการพัฒนาตนเอง มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้นำกับผู้ปฏิบัติงาน ช่วยพัฒนาการเป็นผู้นำของผู้ปฏิบัติงาน มีการสื่อสารแบบสองทาง มุ่งความสัมพันธ์กับผู้ปฏิบัติงานเป็นรายบุคคล ปฏิบัติต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นรายคนแตกต่างกันแต่ปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ยกระดับความต้องการและเป้าหมายของผู้ปฏิบัติงานให้สูงขึ้น มอบหมายงานให้ผู้ปฏิบัติงานเพื่อให้มีโอกาสที่จะเรียนรู้และพัฒนาตนเอง

สรุปได้ว่า ทฤษฏีภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง ได้จำแนกแบบภาวะผู้นำออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน เป็นผู้นำที่จะพยายามส่งเสริมหรืออำนายความสะดวกให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน ศึกษาความต้องการของผู้ปฏิบัติงาน ประสานสัมพันธ์ระหว่างความต้องการของผู้ปฏิบัติงานกับผลงานที่ผู้นำต้องการ สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน ให้ผู้ปฏิบัติงานมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานของงาน คอยติดตามงาน ทบทวนการทำงานและสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติงานทำงานได้สำเร็จ ให้การยอมรับ ยกย่อง สรรเสริญ และให้รางวัลเป็นการตอบแทนหากทำงานที่มอบหมายได้สำเร็จตามเป้าหมาย โดยใช้รูปแบบการให้รางวัลตามสถานการณ์เพื่อการเสริมแรงทางบวก และใช้การบริหารงานแบบวางเฉยเพื่อเสริมแรงทางลบควบคู่กันไป ส่วนภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำที่จะคอยกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติงานมีความต้องการและมีความพึงพอใจให้มากกว่าที่มีอยู่ ให้ผู้ปฏิบัติงานเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง กล้าเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น สามารถทำงานให้องค์การไปสู่เป้าหมายได้อย่างสร้างสรรค์ จนประสบผลสำเร็จ โดยใช้รูปแบบของ ความมีเสน่ห์ การดลใจ การกระตุ้นการใช้ปัญญา และ การคำนึงถึงความเป็นปัจเจกชน
จาการศึกษาทฤษฏีภาวะผู้นำดังกล่าวพอสรุปได้ว่า ภาวะผู้นำ เป็นกระบวนการของบุคคลที่สามารถใช้ศิลปะในการโน้มน้าวผู้อื่นให้ร่วมมือร่วมใจกันปฏิบัติงาน ให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นำจะต้องมีคุณลักษณะที่เหมาะสมทั้งด้าน ความรู้ ความสามารถ ความคิดและสติปัญญา มีคุณธรรม มีความรับผิดชอบ มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีแรงจูงใจที่ต้องการความสำเร็จ ความสำเร็จของความเป็นผู้นำนอกจากจะขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้ว ยังขึ้นอยู่กับทักษะความเป็นผู้นำ เช่น ทักษะมนุษยสัมพันธ์ การตัดสินใจ การประสานงาน การสื่อสาร แม้ว่าผู้นำจะต้องมีคุณลักษณะและบทบาทหน้าที่ดังกล่าวแล้ว การบริหารองค์การให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ยังต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ผู้นำจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนั้นหากผู้บริหารองค์สามารถพัฒนาบุคลากรในองค์ให้มีภาวะผู้นำ ให้เกิดขึ้นอย่างกว้าง ก็จะก่อให้เกิดผลที่ดีทั้งต่อการบริหารงาน ต่อการปฏิบัติงานในองค์การ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในองค์การ ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับการฝึกฝนของผู้บริหารที่จะทำให้เกิดขึ้นจริงในการทำงานโดยมีทฤษฏีและหลักการภาวะผู้นำเป็นตัวชี้นำทิศทางที่เหมาะสม

2. แนวคิดภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล
ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล เป็นแนวคิดที่นำมาใช้ในการพัฒนาองค์การให้บรรลุเป้าหมายและสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ปฏิบัติงานในองค์การ นักวิจัยที่ศึกษาค้นคว้าเรื่องคุณลักษณะของภาวะผู้นำ ได้พบคุณลักษณะที่สำคัญหลายประการซึ่งเป็นองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผล

Tappen (1989) กล่าวถึงภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลว่า ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ คือ

1.เป็นผู้กำหนดเป้าหมาย (goals) เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ และเข้าใจเป้าหมาย วัตถุประสงค์ขององค์การ ทั้งในระดับบุคคลและกลุ่มบุคคลในการทำงาน
2. มีทักษะและความรู้ (knowledge and skill) ประกอบด้วย 1) ผู้นำที่มีความรู้ ทักษะความ สามารถพื้นฐานของภาวะผู้นำ เช่น เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำ มีความสามารถในการจูงใจผู้ร่วมงาน เรียนรู้และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ 2) ผู้นำความรู้และทักษะทางวิชาชีพในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วย มีความรู้พื้นฐานในการวินิจฉัย การวางแผน การประเมินและการติดตามผลการปฏิบัติงาน มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง แสวงหาความรู้และเทคนิควิธีการใหม่ ๆ มาใช้ในการพัฒนางาน 3) มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และทำงานเป็นกระบวนการ เปิดใจกว้างที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ล้มเหลวแล้วนำมาปรับปรุงพัฒนางาน
3. มีความตระหนักรู้ในตนเอง (self awareness) เป็นผู้นำที่มีความเข้าใจและรู้จักในตนเอง มีความมั่นใจในตนเอง เปิดใจกว้างยอมรับความคิดเห็นและความต้องการของผู้อื่น
4. มีการติดต่อสื่อสารที่ดี (communicate) เป็นผู้นำที่มีทักษะในการสื่อสารที่ดีทั้ง การพูด การอ่าน การเขียน ที่มีประสิทธิภาพ เป็นผู้ฟังที่ดียอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงาน ให้ข้อมูลย้อนกลับเชิงสร้างสรรค์ ให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างช่องทางเครือข่ายการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี
5. มีพลังและแรงขับ (energy) เป็นผู้นำที่มีพลังและแรงขับในตนเองที่จะทำงาน เป็นพลังอารมณ์ และความรู้สึกที่มีอยู่ในตัว แสดงถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ และความพยายามในการปฏิบัติงานให้บรรลุผลสำเร็จ พลังอารมณ์นี้ทำให้มีความรู้สึกอยากทำงาน มีความสนใจในงาน ทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ ระดับพลังและแรงขับในตนมีอิทธิพลต่อการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
6. มีพฤติกรรมความเป็นผู้นำ (action) เป็นผู้นำที่มีการวางแผนในการทำงานอย่างเป็นระบบ มีการจัดทำแนวทางในการปฏิบัติงานที่มีมาตรฐาน มีการติดตามงานและประเมินผลงานอย่างเป็นระบบ
มีการประชุมพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการปฏิบัติงาน ส่งเสริมสุขภาพจิตในการปฏิบัติงานให้เกิดความภาคภูมิใจในงาน

Goleman (2002 อ้างถึงใน สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์, 2547) กล่าวว่า องค์ประกอบภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลมี 4 องค์ประกอบ ดังนี้
1. ความตระหนักรู้ในตนเอง ( self awareness) เป็นผู้นำที่สามารถรับรู้การรู้อารมณ์ตนเอง ได้ตลอดเวลา รู้จักตนเองว่ามีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไร มีความมั่นใจในตนเอง รู้ขีดความสามารถของตนเอง สามารถประเมินตนเองได้อย่างถูกต้อง และพร้อมที่จะเผชิญกับงานหรือสถานการณ์ที่ยากลำบาก
2. ความสามารถบริหารจัดการตนเอง (Self management) เป็นผู้นำที่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้สูง มีความโปร่งใส ยึดมั่นในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์ กล้ายอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี มีมาตรฐานการทำงานที่สูง ปรับปรุงผลงานอย่างต่อเนื่อง เรียนรู้ตลอดเวลา ทำงานแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีความคิดริเริ่ม มีแรงจูงใจในการทำงานสูง มองเห็นช่องทางที่เป็นโอกาสมากกว่าเป็นอุปสรรค
3. ความตระหนักรู้ทางสังคม ( social awareness) เป็นผู้นำที่มีความสามารถในการรับรู้อารมณ์ผู้อื่นโดยไม่ต้องพูด มีความเข้าใจถึงมุมมองของผู้อื่น สามารถรับรู้และตอบสนองความต้องการของผู้ร่วมงานได้
4. การจัดการความสัมพันธ์ ( relationship management) เป็นผู้นำที่สามารถสร้างแรงดลใจ ชี้นำและจูงใจผู้ร่วมงานให้เกิดความผูกพัน ยึดมั่นต่อวิสัยทัศน์และพันธกิจขององค์การด้วยความเต็มใจ มีอิทธิพลที่จะดึงบุคคลสำคัญเข้ามาเป็นสมาชิกในกลุ่มงาน เป็นผู้เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มีศิลปะในการพูดจูงใจคน มีความเอาใจใส่ผู้ร่วมงานให้พัฒนาตนเองด้วยการให้คำแนะนำ และให้ข้อมูลย้อนกลับที่ถูกต้อง ช่วยเหลือผู้ร่วมงานในฐานะเป็นพี่เลี้ยง หรือเป็นผู้ฝึกสอน มีความสามารถในการบริหารความขัดแย้ง เป็นผู้สร้างทีมงานและผู้ประสานความร่วมมือให้เกิดการทำงานเป็นทีม
5. เสริมสร้างกำลังใจในการทำงาน เป็นผู้นำที่ยอมรับการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงาน ให้ความสำคัญต่อการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงาน คอยดูแลเอาใจใส่ต่อผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งแสดงความชื่นชมยินดี ให้รางวัลในความสำเร็จของทีมงานอย่างสม่ำเสมอ

Winter (2003) กล่าวถึงองค์ประกอบภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผลว่า มี 5 องค์ประกอบ ดังนี้
1. ภาวะผู้นำเชิงกลยุทธ์ (strategic leadership) เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มีความริเริ่มสร้างสรรค์ และสามารถขับเคลื่อนองค์การโดยใช้กลยุทธ์ เช่น เป็นภาวะผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นการณ์ไกลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว สามารถถ่ายทอดวิสัยทัศน์ให้ผู้ปฏิบัติงานรับรู้จนสามารถนำไปปฏิบัติได้ เป็นผู้ให้ทิศทาง และเป้าหมายขององค์การ มีการจูงใจและนำผู้ปฏิบัติงานไปสู่เป้าหมายขององค์การได้ เป็นนักคิด นักวางแผนการทำงาน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและยอมรับการเปลี่ยนแปลง และ เป็นผู้มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง
2. เป็นผู้สอนงานที่ดี ( Performance coaching) เป็นผู้ที่ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ให้คำแนะนำในการปฏิบัติงาน สร้างมาตรฐานในการปฏิบัติงาน มีการวัดและประเมินผลงานที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน พัฒนาทีมงานและผลผลิตในองค์การ
3. เป็นผู้พัฒนาบุคคล (Development coaching) เป็นผู้สนับสนุนผู้ปฏิบัติงานและพัฒนาผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้และเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน
4. เป็นผู้มีสัมพันธภาพที่ดี (Performance relationships) เป็นผู้นำที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี สร้างทีมงานในการทำงาน มีการติดต่อสื่อสารที่ดี และสามารถแก้ไขความขัดแย้งในองค์การ
5. เป็นผู้มีบุคลิกภาพที่ดี (Personal leadership) เป็นผู้นำที่มีพฤติกรรมความเป็นผู้นำ เป็นแบบอย่างทีดี มีความเชื่อมั่นในตนเอง เป็นคนเปิดเผย มีทักษะทางสังคมที่ดีและมีอารมณ์ขัน

ทัศนีย์ (2547) ได้ศึกษาตัวประกอบภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล พบว่า มีองค์ประกอบของภาวะผู้นำที่มีประสิทธิผล มี 9 ด้าน คือ
1.ด้านการมีวิสัยทัศน์ เป็นผู้นำที่มองการณ์ไกลในการปฏิบัติงาน เป็นผู้ให้ทิศทางและสร้างวิสัยทัศน์ และสร้างแรงบันดาลใจให้เกิดขึ้นองค์การ
2.ด้านกลยุทธ์ เป็นผู้นำที่มีการวางแผนการทำงาน มีการมอบหมายงาน และใช้การบริหารงานแบบมีส่วนร่วม มีการจูงใจผู้ร่วมงาน
3.ด้านทักษะทางวิชาชีพ เป็นผู้นำที่มีความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติงาน มีความรู้เกี่ยวกับงานที่ปฏิบัติเป็นอย่างดี
4.)ด้านนักพัฒนา เป็นผู้นำที่นำการเปลี่ยนแปลง พัฒนาบุคลากร พัฒนาทีมงาน เป็นผู้สอนงานและให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ร่วมงาน
5.)ด้านมีพลังและแรงขับ เป็นผู้นำที่กล้าคิด กล้าตัดสินใจ มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายขององค์การ
6. ด้านการติดต่อสื่อสาร เป็นผู้นำที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีทักษะในการติดต่อประสานงาน มีการสื่อสารกับผู้ร่วมงานด้วยวิธีการที่หลากหลาย
7. ด้านคุณลักษณะผู้นำ เป็นผู้นำที่มีบุคลิกภาพที่ดี เป็นแบบอย่างที่ดี กล้าแสดงออก มีความมั่นใจในตนเอง
8.ด้านตระหนักในตนเอง เป็นผู้ตระรู้ในตนเอง ประเมินตนเองได้ มีความสามารถในการปรับตัวได้ดี มีความรับผิดชอบ และสามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้
9. ด้านตระหนักรู้ผู้อื่น เป็นผู้นำที่มีความเข้าใจผู้อื่น รู้จักการให้อภัย ให้เกียรติและพิทักษ์สิทธิ์ของผู้อื่น ตลอดจนการสร้างเสริมกำลังใจให้กับผู้ร่วมงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น