วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

รมต.ศธ แต่งตั้งข้าราชการกระทรวง

มติ ครม.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๓ ได้อนุมัติแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จำนวน ๖ ราย และเห็นชอบระเบียบ ก.ค.ศ.ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
________________________________________

- แต่งตั้งข้าราชการ ศธ. รมว.ศธ.กล่าวว่า ครม.อนุมัติ ตาม ศธ. เสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหนงประเภทบริหารระดับสูง จำนวน ๖ ราย ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๓ เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนผู้เกษียณอายุราชการ ดังนี้

๑. นางแน่งน้อย พัวพัฒนกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา
๒. นางสาวจิรพรรณ ปุณเกษม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการศึกษาและพัฒนาการเรียนรู้ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
๓. นายสมบัติ แสงสว่างสัจกุล ผู้อำนวยการสำนักติดตามและประเมินผลการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
๔. นางวราภรณ์ สีหนาท ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ดำรงตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
๕. นางเบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำรงตำแหนง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง
๖. นายประเสริฐ บุญเรือง รองเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

--------------------------------------------------------------------------

- เห็นชอบร่างระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ครม.เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบ ก.ค.ศ. ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. .... ตามที่ ศธ.เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงาน ก.พ.ไปประกอบการพิจารณาด้วย สำหรับงบประมาณที่คาดว่าจะต้องใช้ในระยะต้นของการบังคับใช้ระเบียบนี้เป็นเงินจำนวน ๑๕.๑๐๒ ล้านบาทต่อปี ให้ ศธ.ดำเนินการตามความเห็นของสำนักงบประมาณต่อไป
ทั้งนี้ ศธ.ได้เสนอว่า ด้วย ก.พ.ได้ออกระเบียบ ก.พ.ว่าด้วยเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ.๒๕๕๒ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน และประกาศ ก.พ. เรื่องกำหนดตำแหน่งและเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๒ ซึ่งได้กำหนดให้ข้าราชการผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการในสายงานนิติการ ตำแหน่งนิติกร ระดับปฏิบัติการ ระดับชำนาญการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ สายอำนวยการเฉพาะด้าน ตำแหน่งผู้อำนวยการเฉพาะด้าน (นิติการ) ระดับต้น ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษให้ได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “พ.ต.ก.” ซึ่งมีผลใช้บังคับเฉพาะกับข้าราชการพลเรือนสามัญ
ในขณะที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งบุคลากรทางการศึกษาอื่นตามมาตรา ๓๘ ค. (๒) ตำแหน่งนิติกร มีลักษณะงานเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่งนิติกร ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ ก.พ. กำหนดให้เป็นตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษและให้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกันสำหรับตำแหน่งที่มีลักษณะงานเช่นเดียวกัน และเพื่อเป็นการสงวนรักษาบุคลากรในตำแหน่งดังกล่าวที่มีความรู้ความชำนาญ ประสบการณ์สูงไว้ในระบบราชการอันจะส่งผลต่อการเสริมสร้างประสิทธิภาพ ประสิทธิผลการปฏิบัติราชการของหน่วยการศึกษา ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.๒๕๔๗ มาตรา ๓๓ บัญญัติว่า ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาอาจได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษตามระเบียบที่ ก.ค.ศ. กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี

สาระสำคัญของร่างระเบียบดังกล่าว ได้กำหนดนิยามคำว่า “เงินเพิ่ม” “ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา” และ “เหตุพิเศษ” รวมทั้งกำหนดคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษที่มีสิทธิได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ และกำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินเพิ่ม และกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่ม ตลอดจนกำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาได้รับเงินเพิ่มสำหรับเดือนตามส่วนของจำนวนวันที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ และกำหนดข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่มิได้ปฏิบัติงานแต่ให้มีสิทธิได้รับเงินเพิ่ม.
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน

ครม.เห็นชอบเงินโบนัส - แผนปรองดอง
สรุปผลการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ๒ เรื่อง คือ เห็นชอบการจัดสรรเงินรางวัลประจำปี และรับทราบแนวทางการดำเนินงานตามแผนปรองดองแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
________________________________________

๑) เห็นชอบการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๒ จำนวน ๑,๐๗๓ ล้านบาท

คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกับมติคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เกี่ยวกับแนวทางการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่มีเงินเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ หรือมีอยู่ไม่เพียงพอ ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร.เสนอ โดยให้ใช้เงินงบประมาณ งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ ที่คงเหลือจากการจัดสรรเงินรางวัลและเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้บริหาร ก่อนปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งมีการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีและขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินไว้แล้ว จำนวน ๑,๐๗๓,๖๒๙,๒๕๕ บาท และเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รวดเร็ว เห็นควรดำเนินการดังนี้
-ให้ส่วนราชการ จังหวัดและสถาบันอุดมศึกษา ที่มีเงินเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ สามารถโอนเปลี่ยนแปลงรายการเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ ไปตั้งจ่ายในรายการเงินรางวัลสำหรับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติของหน่วยงานเพื่อใช้สำหรับการจัดสรรเป็นเงินรางวัล ไม่ต้องขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเป็นรายๆ ไป ทั้งนี้ เป็นการผ่อนผันวิธีปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ.๒๕๔๘ และที่แก้ไขเพิ่มเติม
-ให้กระทรวงการคลัง อนุมัติการกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีและการขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๒ เพื่อนำมาจัดสรรเป็นเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๒ และวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓
-ให้ส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ ก.พ.ร.กำหนดและคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยควรให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติ และไม่ควรนำเงินรางวัลที่ได้รับจัดสรรไปหารเฉลี่ยให้เท่ากันทุกคน แต่ต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติราชการและควรให้กับผู้ปฏิบัติที่มีความร่วมมือในการสร้างผลงานให้ส่วนราชการฯ รวมทั้งผู้ที่มีความทุ่มเทและมีผลงานให้ส่วนราชการฯ บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการและตามคำรับรองการปฏิบัติราชการประจำปี
ทั้งนี้ บุคลากรภาครัฐระดับผู้บริหารไม่ได้รับสิทธิในการจัดสรรเงินรางวัลดังกล่าว
๒) รับทราบแนวทางการดำเนินงานตามแผนปรองดองแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ
ครม.รับทราบแนวทางการดำเนินงานตามแผนปรองดองแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งได้ดำเนินงานตามแผนปรองดองแห่งชาติ ในระยะเร่งด่วน ๓ เดือน (กรกฎาคม–กันยายน ๒๕๕๓) โดยจะมีการเปิดตัวโครงการ "ศธ.รวมพลังสร้างความปรองดอง เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย" ในวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๕๓ โดยมีการถ่ายทอดสดเชื่อมโยงสัญญาณไปทุกภูมิภาค โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ ๑ สร้างเสริมให้สถาบันการศึกษาทุกระดับเสริมทักษะและสำนึกของความเป็นพลเมืองเพื่อเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง
- ปลูกฝังความรู้ความเข้าใจ เสริมทักษะความเป็นพลเมืองให้กับกลุ่มเป้าหมาย ๑) ผู้บริหาร สถานศึกษา ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ๒) ผู้เรียน ๓) ชุมชน พ่อแม่ ผู้ปกครอง ๔) ส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรความเป็นพลเมืองจากภาคทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง โดยมุ่งเน้นความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และเจตคติเพื่อการปฏิบัติในวิถีชีวิต
- พัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการฟังและการเจรจาในเชิงสันติวัฒนธรรมอันเป็นพื้นฐานของความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยใช้กิจกรรมต่างๆ เป็นเครื่องมือ อาทิ กิจกรรมจิตอาสา การบำเพ็ญสาธารณะประโยชน์
- จัดอบรมแกนนำผู้บริหารและครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทุกระดับและประเภทการศึกษาเพื่อเป็นวิทยากรแกนนำเรื่องสันติวัฒนธรรมในสถานศึกษา
ยุทธศาสตร์ที่ ๒ สร้างเครือข่ายและช่องทางเพื่อการขับเคลื่อน และขยายผลอย่างยั่งยืน
- กำหนดให้มีช่องโทรทัศน์สำหรับเยาวชน (Youth channel) ในวัยต่าง ๆ ทุกระดับเพื่อเป็นเวทีเตรียมเยาวชนรุ่นใหม่ให้เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น มีทักษะ เจตคติในการเป็นพลเมืองดีของสังคม
- สร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงและผลักดันการทำงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินงานเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
ยุทธศาสตร์ที่ ๓ สร้างความตระหนักและระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง
- ดำเนินการยกย่องบุคคล/สถานศึกษา/องค์กร เพื่อเป็นต้นแบบความเป็นพลเมืองที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย
- ระดมทรัพยากรทั้งความชำนาญการและงบประมาณจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างอนาคตประเทศร่วมกัน
เพื่อให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาเพื่อสร้างความเป็นพลเมือง ตามแผนปรองดองแห่งชาติ บรรลุความสำเร็จอย่างยั่งยืน จึงได้กำหนดการดำเนินงานไว้เป็น ๓ ระยะ โดย ระยะเร่งด่วน เป็นการดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ๒๕๕๓ โดยมีกิจกรรมต่างๆ คือ เปิดตัวโครงการ ศธ.รวมพลังสร้างความปรองดอง เพื่อเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย การพัฒนาการเรียนการสอน/อบรม การณรงค์ และการประชาสัมพันธ์ ระยะกลาง เป็นการดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๕๓ และระยะยาว เป็นการดำเนินกิจกรรมระหว่างเดือนมกราคม-กันยายน ๒๕๕๔ ของทุกองค์กรหลัก
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน


ผลประชุม ก.ค.ศ.
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุม ก.ค.ศ. ครั้งที่ ๘/๒๕๕๓ เมื่อเร็วๆ นี้
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุม ก.ค.ศ.ได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง ผอ.สพท. รอง ผอ.สพท. และผู้อำนวยการสำนักงาน กศน. จังหวัด เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง ๓ ฉบับ ได้มีผลต่อการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา มีการกำหนดตำแหน่ง ผอ.สพท.ประถมศึกษาและมัธยมศึกษาขึ้นใหม่
โดยเห็นควรว่าต้องมีการปรับปรุงมาตรฐานตำแหน่ง ให้ผู้ที่จะเข้าสู่ตำแหน่งดังกล่าวได้นั้น ต้องปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษาที่มีวิทยฐานะ ผอ.ชำนาญการพิเศษมาแล้วไม่น้อยกว่า ๕ ปี หรือดำรงตำแหน่งรอง ผอ. สถานศึกษาที่มีวิทยฐานะรอง ผอ. เชี่ยวชาญ สามารถเข้าสู่ระดับเงินเดือนเริ่มต้นที่อันดับ คศ.๔
สำหรับตำแหน่งผู้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.สพท. นอกจากการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี แล้ว หรือต้องดำรงตำแหน่ง ผอ.สถานศึกษา ซึ่ง ผอ.สถานศึกษา สามารถสอบเลื่อนขั้นเป็น รอง ผอ.สพท. ได้ ต้องมีวิทยฐานะชำนาญการพิเศษมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบการตั้ง อ.ก.ค.ศ. วิสามัญเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กทม.ทำหน้าที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา กทม. เพื่อบริหารงานบุคลากรของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยมีองค์ประกอบ ๑๐ คน มี ผอ.สพท.ประถมศึกษา กทม.เป็นประธาน เนื่องจากมีการยุบเขตพื้นที่การศึกษา กทม. จาก ๓ เขต ให้เหลือเพียงเขตเดียว จึงต้องตั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขึ้นมา ภายในระยะเวลา ๑๘๐ วัน จนกว่าจะมีการตั้ง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา ส่วน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษาอื่นก็ให้เป็นไปตามกฎหมายเดิม

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ที่ประชุมยังได้พิจารณา (ร่าง) กฎ ก.ค.ศ. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการได้มาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและกรรมการผู้แทนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาใน ก.ค.ศ. พ.ศ. .... โดยที่ พ.ร.บ. ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดองค์ประกอบของ ก.ค.ศ. ในส่วนของกรรมการผู้แทนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาใหม่ จากเดิม ๙ คน เป็น ๑๒ คน จากเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้แก่
(๑) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๒) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๓) ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษา ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๔) ผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาที่เรียกชื่ออย่างอื่นในหน่วยงานการศึกษา ตามที่ ก.ค.ศ. กำหนด ซึ่งสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๕) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๓ คน
(๖) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๗) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน ๑ คน
(๘) ผู้แทนข้าราชการครู สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือสังกัดกระทรวงวัฒนธรรม จำนวน ๑ คน
(๙) ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน ๑ คน
(๑๐) ผู้แทนบุคลากรทางการศึกษาอื่น สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน ๑ คน
รมว.ศธ. กล่าวว่า เนื่องจากองค์ประกอบดังกล่าวยังไม่ครอบคลุมบางหน่วยงาน เช่น กศน. และการศึกษาพิเศษ ที่ประชุมจึงขอให้ อ.ก.ค.ระบบไปศึกษาเรื่องนี้ และนำกลับมาเข้าที่ประชุม ก.ค.ศ. ใหม่อีกครั้งหนึ่ง และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามพระราชบัญญัติทั้ง ๓ ฉบับ มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการปรับปรุงการบริหารงานบุคคล เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมายในช่วงเวลา ๑๘๐ วัน จึงได้มีการตั้งคณะทำงานชุดหนึ่ง เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติงานรองรับกฎหมายทั้ง ๓ ฉบับต่อไป.
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน

วันครูโลก
ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๕ ในโอกาสวันครูโลก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๕๓ โดยมีนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายไชยยศ จิรเมธากร และนางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้การต้อนรับ และกล่าวรายงานการจัดงาน
รมว.ศธ. กล่าวรายงานถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า กระทรวงศึกษาธิการขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่กรุณาให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมสมัชชาการศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๕ ในโอกาสวันครูโลก เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ซึ่ง ศธ.ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานภายใต้หัวข้อ "การศึกษาเพื่อโลกอาชีพ"
ศธ.มีนโยบายการพัฒนาระบบการผลิตและพัฒนากำลังคน โดยเน้นความร่วมมือทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนของประเทศในการร่วมมือและแข่งขันกับนานาประเทศ การจัดงานวันครูโลกในปีนี้จึงมุ่งเน้นการเรียนการสอน การฝึกอาชีพ และการสาธิตกิจกรรมที่เกี่ยวกับนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อสร้างอาชีพ ขอถือโอกาสนี้ในนามของ ศธ. และผู้จัดงานทั้งหมดกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งมาจากองค์กรระหว่างประเทศ หน่วยงานเกี่ยวกับการศึกษาทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก สถาบันการศึกษา นักวิชาการ รวมทั้งภาคเอกชนและผู้สนใจอีกเป็นจำนวนมากของการจัดงานได้ทราบ
นอกจากนี้ ขอต้อนรับผู้เข้าร่วมงานที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และหวังว่าจะใช้ช่วงเวลาที่พักในประเทศไทยร่วมประชุมทางวิชาการ พร้อมกับเรียนรู้ว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาในทุกระดับ ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการศึกษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตลอด ๑๕ ปี และขอต้อนรับผู้เข้าร่วมงานที่เดินทางมาจากทุกภาคส่วนในประเทศด้วย หวังว่าท่านจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความรู้ทางวิชาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการอาชีวศึกษาของประเทศไทย
น.ส.นริศรา ชวาลตันพิพัทธ์ รมช.ศธ. กล่าวรายงานถึงรายละเอียดกิจกรรมในการประชุมสมัชชาในครั้งนี้ว่า สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานร่วมกับองค์กรหลัก และองค์กรระหว่างประเทศ รวมทั้งเอกชนและผู้สนใจอีกเป็นจำนวนมาก ในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแล สอศ.จึงขอรายงานถึงกิจกรรมรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับการจัดงานวันครูโลกครั้งนี้ ซึ่งได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ "การศึกษาเพื่อโลกอาชีพ" ประกอบด้วยการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาและวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักในการศึกษาสายอาชีพ ภายใต้ปรัชญาของการจัดการเรียนการสอนที่ได้คุณภาพ มีมาตรฐาน และให้ผู้สำเร็จการศึกษา ทั้งในหลักสูตรระดับปริญญา ประกาศนียบัตร และหลักสูตรระยะสั้น และการฝึกอบรมตามอัธยาศัยต่าง มีงานทำ สร้างรายได้ และเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยไปในคราวเดียวกัน
การจัดงานสัมมนาทางวิชาการนี้ ได้รับความร่วมมือจากองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การยูเนสโก Columbo Plan Staff College และ Inwent แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี สำหรับการจัดกิจกรรมด้านนิทรรศการเป็นการนำเสนอผลงานในหลากหลายหัวข้อ เช่น การประดิษฐ์ คิดค้น การจัดหลักสูตร ๑๐๘ อาชีพ การจัดการอาชีวศึกษานานาชาติ โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาเอกชน โรงเรียน และวิทยาลัยนานาชาติ รวมทั้งสถานประกอบการภาคเอกชนที่เป็นแหล่งฝึกอาชีพของนักศึกษาสายอาชีพ ตลอดระยะเวลา ๓ วันของการดำเนินงาน สอศ. ได้บูรณาการความร่วมมือให้นักเรียน นักศึกษา ครู อาจารย์ ทั้งสถานศึกษาภาครัฐ เอกชน นานาชาติ องค์กรวิชาชีพครู และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมชมกิจกรรม ประชุมวิชาการ
และเนื่องในมงคลวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในคืนวันแรกของพิธีเปิดนี้ ผู้เข้าร่วมการประชุมสมัชชาจะพร้อมกันเพื่อประกอบพิธีถวายราชสักการะ ตามนโยบายของรัฐบาลในการถวายความจงรักภักดีแด่พระบรมราชจักรีวงศ์ และธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
รมช.ศธ. ยังได้กล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่กรุณาให้ความสำคัญกับการจัดการประชุม โดยเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดด้วยตนเอง และจะได้ชมกิจกรรมต่างๆ ภายในงานด้วย อันแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่ต้องการให้การศึกษาสายอาชีพมีบทบาทสำคัญกว่าที่เป็นอยู่เดิมและในอนาคตอันใกล้นี้ ตามยุทธศาสตร์และมาตรการผลิตกำลังคนที่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ให้ปรับสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษาต่อผู้เรียนสามัญศึกษา เป็นสัดส่วน ๖๐ ต่อ ๔๐
นอกจากนี้ ขอแสดงความขอบคุณผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดงาน และผู้รับผิดชอบทุกฝ่ายที่เตรียมการและจัดงานในวันครูโลกครั้งนี้อย่างเต็มที่ โดยมีวัตถุประสงค์จะให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุดแก่วงการศึกษาของไทย.
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน

หนี้สินครู
นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงมาตรการในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบเมื่อเร็วๆนี้
รมว.ศธ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินครู โดยได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.ค.ศ. สกสค. ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตครูและธนาคารออมสิน ซึ่งมีข้อสรุปเบื้องต้นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบ ดังนี้
๑) ให้องค์กรที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันบูรณาการโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตครูทั้งระบบอย่างยั่งยืน
๒) ธนาคารออมสินยินดีปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูเป็น MLR - ๐.๕ และ สกสค. จะลดเงินดอกเบี้ยธนาคารออมสินลง ๑ % คืนให้ครู เพื่อสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการ สกสค. ให้นำไปพัฒนาตนเองให้เข้มแข็ง โดยทั้งสองหน่วยงานจะได้มีการประชุมหารือร่วมกันเพื่อวางมาตรการในการดำเนินการต่อไป
๓) บริหารโครงการที่จะลดความซ้ำซ้อนของผู้กู้เพื่อให้มีการเชื่อมโยงเครือข่ายในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูและให้มีการ ลด ละ เลิก การเป็นหนี้ของครู โดยโครงการเงินกู้ต่างๆ ที่จัดให้ครูกู้จะต้องมีการเชื่อมโยงกันในเรื่องของหลักประกันเงินกู้ และร่วมมือกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตครูอย่างต่อเนื่อง
๔) การพัฒนาคุณภาพชีวิตครูอย่างยั่งยืน ให้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจะมอบหมายให้องค์กรหลักที่รับผิดชอบนำไปดำเนินการต่อไป

รมว.ศธ. กล่าวสรุปว่า ขณะนี้ครูเป็นหนี้จากแหล่งต่างๆ ดังนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครู ๓๐๐,๐๐๐ คน มูลค่าหนี้ประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โครงการเงินกู้พัฒนาชีวิตครู ๕๐,๐๐๐ คน วงเงิน ๙๐,๐๐๐ ล้านบาท และหนี้จากโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. ๑๐๕,๐๐๐ คน วงเงิน ๒๐๐,๐๐๐ ล้านบาท และในกรณีครูผู้กู้ยังอยู่ในระบบราชการมีปัญหาหนี้สินในภาวะวิกฤติ ซึ่งคาดว่าน่าจะมีประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน จึงขอให้สำนักงาน ก.ค.ศ. เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบเยียวยา โดยมีกระทรวงการคลังให้การสนับสนุน ซึ่งจะมีการออกมาตรการที่จะนำเงินกองทุนหมุนเวียนเพื่อแก้ไขหนี้สินครูมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ครูพึ่งพาตนเองได้ต่อไป
ภาณุ วงษ์ถาวรเรือง
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาในอาเซียน สู่การบรรลุเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ในปี ๒๕๕๘ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ ห้องประชุมกระทรวงศึกษาธิการ
รมว.ศธ. กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการสร้างประชาคมอาเซียนภายในปี ๒๕๕๘ ดังนี้
๑.สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินงานภายใต้กรอบรัฐมนตรีศึกษาอาเซียน กรอบประเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา เสริมสร้างความตะหนักเกี่ยวกับอาเซียน และการจัดตั้งสถาบันนานาชาติเพื่อพัฒนาผู้บริหารการศึกษา
๒.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโครงการEducation Hub School และอยู่ระหว่างดำเนินโครงการSpirit of ASEAN (Sister/Partner School และ Buffer School) สำหรับกิจกรรมที่จะดำเนินการในปี ๒๕๕๔ คือการพัฒนาหลักสูตรและสื่อเกี่ยวกับอาเซียน รวมทั้งกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้สู่ประชาคมอาเซียน
๓.สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษามาเลเซีย-อินโดนีเซีย-ไทย การประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้บริหารระดับสูงด้านการอุดมศึกษา และการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษาอาเซียน
๔.สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา โครงการเวทีแลกเปลี่ยนความรู้เกษตรนานาชาติ จัดการเรียนการสอนบริการสังคมร่วมกับนักศึกษาสิงคโปร์ โครงการแลกเปลี่ยนกับ Institute Of Technical Education Collage East สิงคโปร์ โครงการพัฒนาโรงเรียนเทคนิคลาว แลกเปลี่ยนนักศึกษาทวิภาคีระดับ ปวส.กับบรูไนฯ โรงเรียนพระราชทานฯวิทยาลัยกำปงเฌอเตียลกัมพูชา ร่วมมือกับ SEAMEO SEAMOLEC ประเทศอินโดนีเซียจัดการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
๕.สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา จัดโครงการ สัมมนาการวิจัยการศึกษาไทย-มาเลเซีย บรรยายทางวิชาการเรื่องความตะหนักเรื่องการก้าวสู่อาเซียน บรรยายเรื่องการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนและคนด้อยโอกาสให้กับผู้แทนมาเลเซีย โครงการพัฒนานโยบายการศึกษาสู่อาเซียน:กรณีศึกษาไทย-ลาว-เวียดนาม โครงการความร่วมมือไทย-ลาว โครงการความร่วมมือไทย-เวียดนาม
๖.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จัดศูนย์การเรียนรู้ชุมชนให้ประเทศเพื่อนบ้าน อบรมเทคนิคการจัดนิทรรศการ การนำเสนอข้อมูล ส่งเสริมความรู้เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพชุมชนในศูนย์วิทยาศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้าน
๗.สำนักบริหารงานคณะกรรมการการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้เรื่องอาเซียนแก่บุคลากร ในสช.และโรงเรียนเอกชน สนับสนุนโรงเรียนเข้าแข่งขันกีฬาประถมศึกษาอาเซียนครั้งที่๓ที่ประเทศอินโดนีเซีย โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนมัธยมศึกษาปี๒๕๕๒กับสิงคโปร์ ร่วมสัมมนาวิชาการและนิทรรศการ การศึกษาไทยที่ประเทศเวียดนาม
๘.สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา คุรุสภาได้เข้าร่วมเป็นภาคีองค์กรสมาชิกสภาครูอาเซียน โดยร่วมกับองค์กรครูในกลุ่มประเทศอาเซียน ๕ประเทศได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก่อตั้งขึ้นในปี ๒๕๒๑ ปัจจุบันมีภาคีสมาชิก ๒๓ องค์กรจาก ๙ ประเทศ
๙.เครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) ได้จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนนักศึกษาภายในอาเซียน มีการพัฒนาหลักสูตรและการประเมินหลักสูตรในสาขาวิชาต่างๆ เช่น เคมี คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาแนวทางการดำเนินงานตามปฏิญญาอาเซียนด้านการศึกษาเพื่อกำหนดเป็นนโยบายดังนี้
๑.การเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาเซียน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อม ของครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา นักเรียน นักศึกษา และประชาชน เพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ภายในปี ๒๕๕๘
๒.การพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษาและประชาชน ให้มีทักษะที่เหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนเช่นความรู้ภาษาอังกฤษ ภาษาเพื่อนบ้าน เทคโนโลยีสารสนเทศ ทักษะและความชำนาญที่สอดคล้องกับการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมและการเพิ่มโอกาสในการหางานทำของประชาชน
๓.การพัฒนามาตรฐานการศึกษาเพื่อส่งเสริมการหมุนเวียนของนักศึกษาและครูอาจารย์ ในอาเซียน รวมทั้งให้มีการยอมรับในคุณสมบัติทางวิชาการร่วมกันในอาเซียน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาต่างๆและการแลกเปลี่ยนเยาวชน การพัฒนาระบบการศึกษาทางไกล ซึ่งช่วยสนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต การส่งเสริมและปรับปรุงการศึกษาด้านอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมทางอาชีพทั้งในขั้นต้นและขั้นต่อเนื่อง ตลอดจนส่งเสริมและเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของประเทศสมาชิกอาเซียน
๔.การเตรียมความพร้อมเพื่อเปิดเสรีทางการศึกษาในอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วย การจัดทำความตกลงยอมรับด้านการศึกษา การพัฒนาความสามารถ ประสบการณ์ในสาขาวิชาชีพสำคัญต่างๆ เพื่อรองรับการเปิดเสรีการศึกษาควบคู่กับการเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน
๕.การพัฒนาเยาวชนเพื่อเป็นทรัพยากรสำคัญในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
รมว.ศธ. ได้มอบหมายให้องค์กรหลักเตรียมจัดทำแผนการดำเนินงานและแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยให้พิจารณาถึงระบบการศึกษาในอาเซียนและ นโยบายของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแท้จริงในอาเซียนต่อไป

ภาณุ วงษ์ถาวรเรือง
นงศิลินี โมสิกะ
สรุป/รายงาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น